โครงการจัดทำกระบวนการตรวจสอบรับรองและตรวจติดตามสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

กิจกรรมภายใต้โครงการจัดทำกระบวนการตรวจสอบรับรองและตรวจติดตามสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าฯ ตามมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นกิจกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 100 สถานีทั่วประเทศ โดยสถาบันไฟฟ้าฯ ส่งทีมวิศวกรลงพื้นที่สำรวจ ความปลอดภัยและสมรรถนะการทำงานของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งใช้งานตามที่พักอาศัยและจุดให้บริการสาธารณะ เช่น ปั้มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และศูนย์ราชการ ครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศมากกว่า 100 สถานี ทั้งที่เป็นสถานีชาร์จฯ ประเภทโหมด 2 (สายชาร์จฉุกเฉิน) ประเภทโหมด 3 (AC Wallbox) และประเภทโหมด 4 (DC Fast Charging) เพื่อช่วยขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ให้สอดรับกับนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือ รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือในปี พ.ศ. 2573  ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่งได้จัดทำหลักเกณฑ์สำหรับการติดตั้งใช้งานสถานีชาร์จฯ ออกมาแล้ว แต่ประเด็นที่อาจจะยังเป็นปัญหาได้แก่ข้อกังวลในการใช้งานภายหลังการติดตั้ง ทั้งด้านสมรรถนะ ความปลอดภัย หรือความเที่ยงตรงของมิเตอร์ สถาบันไฟฟ้าฯ จึงได้ริเริ่มโครงการจัดทำกระบวนการตรวจสอบรับรองและตรวจติดตามสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งานขึ้น

สถาบันไฟฟ้าฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจและจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (OR) และผู้ประกอบการภาคเอกชนหลายราย เพื่อระดมสมอง รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จัดทำแนวปฏิบัติและข้อเสนอ ดังนี้

  1. จัดทำแนวปฏิบัติการตรวจสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้าหลังการติดตั้ง
  2. ข้อเสนอการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  3. ข้อเสนอแนวทางการจัดการซาก EVSE

สำหรับเป้าหมายในการจัดทำแนวทางปฏิบัติการตรวจสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้าหลังการติดตั้งของสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EVSE) เพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และเป็นแนวปฏิบัติให้กับผู้ประกอบการที่ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า สามารถให้บริการผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัย และมีสมรรถนะที่ดี รวมทั้งเป้าหมายในการจัดทำข้อเสนอแนวทางการกำจัดซากของสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EVSE) เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งเพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของสถานีชาร์จฯ รองรับปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

Scroll to Top