พลังงานทางเลือกหรือพลังงานหมุนเวียนกับกฎหมายไทย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายโดยสรุประหว่าง “พลังงานทางเลือก”(Alternative Energy) หมายถึงพลังงานที่ได้จากแหล่งฟอสซิลอื่น ที่ไม่ใช่น้ำมัน ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือยูเรเนียม ซึ่งมีแต่ใช้แล้วจะหมดสิ้นไป ส่วน”พลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy) ได้แก่ พลังงานที่ได้จากแหล่งที่สามารถผลิตหรือก่อกำเนิดพลังงานนั้นขึ้นมาเองได้ และยังหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้อีก เป็นพลังงานสะอาดและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (solar energy) พลังงานน้ำ(hydropower) พลังงานลม (wind energy) พลังงานคลื่น (wave energy)พลังงานความร้อนใต้พิภพ (geothermal energy) พลังงานเคมีจากไฮโดรเจน พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ (bioenergy)

แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยใช้กลไกทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ในการให้ความสำคัญในประเด็นโดยเฉพาะในเรื่องการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม จัดระเบียบในการกำหนดเขตพื้นที่ (zoning ordering)สิ่งแวดล้อม กําหนดกลุ่มประเภทกิจกรรมของภาครัฐให้มีความสอดคล้องกัน ลดความขัดแย้งต่างๆ ที่มีผลต่อการจัดระเบียบพื้นที่ และการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดเงื่อนไขเฉพาะพื้นที่ (area ordinance) เพื่อระบุประเภทและรายละเอียดการใช้งานในพื้นที่อย่างเหมาะสม ตรงตามสภาพความต้องการและศักยภาพของพื้นที่ที่ต้องการ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชุมชนมีกติกาและกฎระเบียบในการใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างเป็นระบบตามความมุ่งหมาย ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์เฉพาะในเรื่องที่ดินในเขตเมือง การก่อสร้างอาคาร และการดูแลสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ กฎหมายที่ราชพัสดุ กฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายกำหนดแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายเทศบาล กฎหมายจัดสรรที่ดิน กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายทางหลวง กฎหมายเกี่ยวกับการเดินอากาศ ซึ่งกฎหมายทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ตอบโจทย์เกี่ยวกับการกำกับดูแลรักษาพลังงานได้เท่าที่ควรแต่อย่างใด

ดังนั้น การใช้มาตรการและกลไกของกฎหมายของต่างประเทศที่มีความเหมาะสมมาประกอบกับมุมมองใหม่ของกฎหมายไทย และศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนํามาตรการและกลไกดังกล่าวมาปรับใช้ภายใต้ระบบกฎหมายไทย ให้มีแนวทางและข้อเสนอแนะ ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในมาตรการต่างๆ สามารถใช้บังคับได้อย่างแท้จริงและแก้ไขปัญหาด้านพลังงานที่เกิดขึ้นได้อย่างจริงจังแต่ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีสัญญาณบ่งบอกว่ากติกาและระบบการจัดการพลังงานที่ใช้วิธีการบังคับและควบคุมโดยใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงประการเดียวไม่อาจแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับปัญหาด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตมีความจําเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือหลายๆ ด้าน ทั้งในทางกฎหมายเฉพาะเรื่องด้านพลังงานมาประกอบกับเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนต้องเข้ามารับผิดชอบต่อประเด็นเรื่องพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับท้องถิ่น เมือง ประเทศ หรือโลก โดยรับภาระในการบริหารจัดการพลังงานร่วมกับภาครัฐที่จะชักจูงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างมีเหตุผล มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ได้แก่ องค์ความรู้ที่เป็นระบบ ตรวจสอบได้ และไม่เอนเอียง ในการพัฒนาทางสังคมและการเมือง การที่มีชุมชนที่เข้มแข็งจะสามารถช่วยติดตามและรับผิดชอบการบริหารจัดการพลังงานได้เป็นอย่างดี

การศึกษาวิเคราะห์แนวทางการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศไทย มีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องพลังงานไว้ในกฎหมายสูงสุด ได้แก่ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” (ปี 2560) ในหมวด 6 ที่เกี่ยวกับแนวนโยบายแห่งรัฐในมาตรา ๗๒ บัญญัติไว้ว่า “รัฐพึงดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรน้ำ และพลังงาน ดังต่อไปนี้ …(๕) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” และปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับก่อนปี พ.ศ. 2560 ที่กล่าวถึงเรื่องพลังงาน อาทิ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 แต่ไม่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติรองรับเรื่องพลังงานหมุนเวียน ฉะนั้นควรมีการตรากฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนขึ้นเพื่อบังคับใช้โดยมีหน่วยงานดูแลด้านพลังงานหมุนเวียนไว้โดยตรง ในการบูรณาการและความเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กับภาคเอกชน และประชาชนในกลุ่มต่างๆ โดยอาจจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนเพื่อความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

​นอกจากนั้นประเทศไทยควรมีการกำหนดนโยบายและแผนดำเนินงานด้านพลังงานที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานหมุนเวียนมากกว่าจะเป็นพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก ทั้งนี้ควรกำหนดแผนและนโยบายดังกล่าวที่มีการกำหนดเป็นเป้าหมายระยะยาวระยะกลาง และระยะสั้น ตามแนวทางของระดับสากลระหว่างประเทศมาประกอบกัน เป็นแนวนโยบายที่จะก่อให้เกิดกฎหมายเฉพาะด้านพลังงานหมุนเวียน โดยมีการกำกับดูแล (Monitoring) เพื่อดำเนินการตามแนวนโยบายรัฐได้อย่างชัดเจนมากขึ้นโดยยึดโยงกับประชาชนให้มามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกับภาครัฐ ทั้งในด้านองค์กรและงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนากฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนว่าควรพัฒนาไปในทิศทางใดอย่างไร ภายใต้พันธกรณีและข้อตกลงตามกรอบประชาคมโลกหรือภูมิภาคต่างๆ โดยการใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก โดยศึกษาวิเคราะห์แนวคิดด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านพลังงานในทุกมิติ

หลักการที่สำคัญเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ในหลักการการมีส่วนร่วม (Participation) การเป็นหุ้นส่วนร่วม (Partnership) หลักการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักธรรมาภิบาล และการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน การเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย และความยั่งยืนทางพลังงานว่า ที่อยู่บนพื้นฐานของมิติหลักด้านพลังงาน 3 ปัจจัย ได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) ความเป็นธรรมทางพลังงาน (Energy Equity) และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)โดยมีกฎหมายแม่บทที่วางกรอบแนวปฏิบัติและนโยบายด้านพลังงานที่สอดคล้องกับบริบทในด้านพลังงานทางเลือกอย่างชัดเจนต่อไป

​ที่มา : ทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

Scroll to Top