การออกแบบโดยใช้สุขภาวะของมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง

พงศธร ละเอียดอ่อน
Executive Director
FiF Design Studio

ขณะนี้ทุกคนกำลังอยู่ในสถานการณ์ COVID-19 ในปี 2021 เป็นปีที่หลายประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะที่แตกต่างต่างจากปี 2020 คือมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น มีวัคซีนที่ทยอยฉีดให้กับประชาชนมากขึ้น และมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น และเกิดแนวทางในการแก้ปัญหาที่ไม่ให้เกิดปัญหาของระบบต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม ความสงบเรียบร้อย และอีกหลายระบบที่ดำเนินอยู่ กลไกสำคัญในปี 2021 นี้ คือการสร้างภูมิคุ้มกันในประกรหมู่มากด้วยระบบวัคซีน ส่วนตัวผมมองว่าเป็นความก้าวหน้าของมนุษย์ที่สามารถหาวิธีกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สามารถทำงานตอบสนองต่อเชื้อตัวใดตัวหนึ่งได้ดีขึ้น และจัดการกับมันได้ก่อนจะส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย โดยเป้าหมายที่คาดหวังคือเมื่อประชาชนเกิน 70% ได้รับวัคซีน ประชาชนจะสามารถใช้ชีวิตกันตามปรกติในระบบและวิถีต่างๆ โดยจำนวนผู้ป่วยหนักจะเกิดขึ้นไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณะสุขในประเทศจะรับมือได้ 

หากชวนทุกท่านมองย้อนเวลาไปที่จุดพื้นฐานของระบบธรรมชาติ ที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในโลกนี้รวมกันอยู่เป็นระบบนิเวศน์ ที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และมีกระบวนการคัดสรรค์สายพันธุ์ตามธรรมชาติ เพื่อการดำรงค์อยู่ให้สายพันธุ์ต่างๆ พัฒนาให้แข็งแรงเพิ่มขึ้นเพื่อให้รอดชีวิตในธรรมชาติและเกิดผลเชื่อมโยงให้สายพันธุ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพัฒนาตามกันเพื่อให้มีชีวิตรอด หากพัฒนาไม่ทันก็จะสูญพันธุ์ไป ธรรมชาติที่พัฒนาระบบนิเวศน์อันสลับซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตให้เกื้อกูลและทำลายล้างกันเพื่อความสมดุลของระบบโดยรวม เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งทุกสิ่งมีชีวิต ก็ล้วนแต่ต้องอยู่ในกฎของธรรมชาติข้อนี้ ระบบที่มีความสลับซับซ้อนที่มนุษย์ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมด ทั้งในระบบใหญ่ระดับพื้นที่จักรวาลที่เราอยู่อาศัย และหน่วยย่อยในระดับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กของเหล่าจุลินทรีย์ที่สัมพันธุ์เชื่อมโยงกันกัน

ในระดับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ เราถือว่าเราเดินทางมาระยะเวลาหนึ่งราวหลักหลายร้อยปี เรารู้เรื่องระบบธรรมชาติเพิ่มขึ้นทีละนิดทีละน้อย ในขณะเดียวกันเรามีการกระทำหลายอย่างที่มั่นใจอย่างก้าวกระโดดจากความเชื่อมั่นในความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลก็คือเมื่อเสลาผ่านไปในระดับหลายสิบหรือร้อยปี เราได้รับผลกระทบต่างๆ จากคนรุ่นก่อนหน้า เช่น 70 ปีก่อนหน้านี้ความรู้ความเข้าใจในการจับปลาในทะเลด้วยปริมาณที่เชื่อว่าปลาไม่มีทางหมดไปได้ และสภาพแวดล้อมในทะเลไม่ได้กระทบกับเราที่อยู่บนบก ผ่านมาถึงวันนี้ความรู้ความเข้าใจใหม่ทำให้เรารู้ว่าสภาพแวดล้อมทางทะเลมีผลกับสภาวะโลกทั้งใบ กับสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกด้วย เป็นตัวแปลสำคัญกับภาวะร้อนที่กำลังเผชิญ หรือก่อนหน้านี้เราคิดว่าทั้งหมดที่ function ในร่างกายมนุษย์คือระบบของร่างกายมนุษย์ สิ่งอื่นที่อยู๋ในร่างกายเราถือเป็นสิ่งแปลกปลอม เราฆ่าเชื้อทุกอย่างก่อนเข้าสู่ร่างกาย เราฆ่าเชื้อในร่างกาย จนวันนี้เรารู้แล้วว่าร่างกายเราเป็นระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตในร่างกายเรามีเซลชีวิตที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้ร่างกายเรา function เราเพิ่งรู้ไม่ถึงสิบปีนี้เองว่าเซลชีวิตในร่างกายเราเป็น DNA ของมนุษย์ราวเพียงสิบเปอร์เซ็นต์!! การฆ่าเชื้อทำลายระบบนิเวศน์ก็เท่ากับทำลายระบบชีวิตของเราเอง เรามักจะรู้น้อยก่อนเสมอและเมื่อลงมือทำไปมากผลที่เกิดขึ้นทำให้เรามีความรู้เพิ่มมากขึ้น บางครั้งก็กลับไปแก้ไขทัน บางกรณีก็แก้ไขไม่ทัน เหตุคล้ายๆ กันนี้ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตที่พืช และสัตว์ ที่มีคุณค่าต่อระบบนิเวศน์เปลี่ยนไป ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายต่อหลายสายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไปรวมทั้งเหล่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่าจุลินทรีย์มากมายในสิ่งแวดล้อมที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติและจากชีวิตมนุษย์

หากมองในภาพรวมของพัฒนาการมนุษย์มีความอ่อนแอลงของสายพันธุ์โดยเกิดจากการใช้ชีวิตและการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัว เราคนเมืองในปัจจุบันอยู่ในธรรมชาติดิบๆ แบบคนโบราณไม่ได้แล้ว โรคต่างๆ กับสิ่งแวดล้อมกระทบอย่างไรกับวิวัฒนาการของมนุษย์ เป็นเรื่องที่เรายังเข้าใจไม่หมด แต่แม้เราป่วยง่ายขึ้นมนุษย์เรารอดได้จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นและมีวิธีการช่วยเหลือร่างกายแบบต่างๆ มากขึ้น มองภาพรวมก็คือเราพึ่งพาความรู้ของมนุษย์ด้วยกันที่เป็นผู้ค้นพบเรื่องราวต่างๆ และทดลองทดสอบเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์ในโลกปัจจุบันมีและตามกรอบของปริมาณและเวลาที่ทำการทดสอบ ความสำเร็จตามระยะเวลาที่เกิดขึ้นสั้นๆ และผลกระทบในระยะยาวที่ยังไม่สามารถเข้าใจความเชื่อมโยงได้ ทำให้แนวทางการแก้ปัญหาที่จะทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่มนุษย์คิดขึ้น โดยดูเหมือนภาพของระบบธรรมชาติเดิม การพัฒนาสายพันธุ์โดยธรรมชาติที่พัฒนาเราตั้งแต่อดีต เป็นภาพที่จางลงและถูกให้ความสำคัญน้อยลงกับผู้คนโดยส่วนใหญ่ ตั้งแต่อดีตผลกระทบของสิ่งที่มนุษย์สร้างเพื่อเป็นวิถีชีวิตด้วยความเข้าใจระยะสั้นระดับสิบปีหรือน้อยกว่า และถูกแรงพลักดันของความกดดันที่ต้องการให้ทุกอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วนั้นเดินหน้าต่อไป มักจะส่งผลไปในระยะยาวระดับห้าสิบหรือร้อยปีให้เห็นอยู่เสมอ 

เป้าหมายสำคัญของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็คือ “สุขภาวะ” คือสภาวะที่กายใจเป็นสุขปรกติ ไม่มีเหตุให้ทุกข์ร้อน จากเหตุทั้งได้รับความพึงพอใจในสิ่งที่ปรารถนา และได้มาซึ่งสุขภาพร่างกายที่ปรกติดี และความปรารถนาให้ทั้งหมดนั้นคงอยู่ไปอย่างยั่งยืนจนถึงกาลอันควรของชีวิต หากมองว่าเป้าหมายสูงสุดด้านสุขภาวะ ย่อมเป็นเป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิตด้วย มุมมองในการตั้งเป้าหมายเพื่อคิดงานออกแบบโครงการ ออกแบบสินค้า บริการ หรือระบบใดๆ ก็น่าจะเป็นมุมนี้? 

การมองว่าสุขภาวะคือ”สภาวะ”กายใจที่เป็นสุขปกติไม่มีเหตุให้ทุกข์ร้อน จะชวนให้มองสภาวะว่า เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาวะปรกตินั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป  ถ้าเราเห็นถึงเหตุปัจจัยของการเกิดขึ้นของสภาวะ และเหตุที่ทำให้ปัจจัยเหล่านั้นคงอยู่ และดับไป ก็จะทำให้สามารถกำหนด กรอบขอบเขตของการศึกษา การทดลองและการออกแบบปัจจัยที่จะเข้ามาเกื้อหนุนในช่วงต่างๆ ได้ 

สภาวะกายกันเป็นปรกตินั้นเราเรียกว่า”สุขภาพ” คือภาพของสภาวะที่ทำให้เราเป็นสุข เกิดจากการที่ระบบทั้งหมดทั้งร่างกายทำงานตามปรกติ จากความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงของระบบนิเวศน์ในสิ่งแวดล้อมภายนอก กับระบบนิเวศน์ภายในร่างกาย (สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในร่างกาย) โดยสองส่วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันผ่าน อากาศ อาหาร และน้ำที่เรานำเข้าและการขับถ่าย เมื่อระบบที่ใหญ่กว่าเสียสมดุลก็จะมีผลกระทบกับระบบย่อย ในบางครั้งการจัดสมดุลของระบบมีการส่งเสริม ทำลายล้าง เรียนรู้ ฯลฯ อาจจะปรากฏเป็นสิ่งที่เราไม่มองเห็นว่าเป็นปรกติ เช่นมีไข้สูงตัวร้อน ปวดบวม แต่นั่นก็คือปรากฏการณ์อันเป็นปรกติเพื่อปรับสมดุลความยั่งยืนของระบบทั้งหมดโดยรวม

ความคาดหวังในสิ่งที่ปรารถนา กับความสามารถในการได้สิ่งนั้นมา เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดความทุกข์ในใจเสมอ ซึ่งสำหรับความสุขกายสุขใจในสุขภาวะของร่างกายและจิตใจอันมีเหตุอันสลับซับซ้อนที่ผูกกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งหมดของระบบในธรรมชาติ มองมุมนี้จะเห็นภาพความยิ่งใหญ่ที่มีแต่ธรรมชาติเท่านั้นที่เราจะสามารถคาดหวังในการได้มาซึ่งสิ่งใดๆ ที่เป็นปรกติตามกลไกในแต่ละช่วงชีวิตของเราได้ ตั้งแต่เกิด เติบโต แก่ เจ็บและตาย

สุขภาพร่างกายที่ปรกติดี คือความเป็นปรกติตามกลไกในแต่ละช่วงชีวิต ทุกคนต้องเจ็บต้องตาย เป้าหมายในการใช้ชีวิตน่าจะเป็นการใช้ชีวิตเพื่อหามาซึ่งปัจจัยแห่งการมีสุขภาวะที่เป็นปรกติตามระบบธรรมชาติที่ซับซ้อนนี้ ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น มีคำกล่าวอย่างยกย่องระบบธรรมชาติไว้มากมาย ที่สำคัญอันหนึ่งสำหรับมนุษย์ก็คือ “ปล่อยให้ธรรมชาติดำเนินไปโดยยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุด แล้วธรรมชาติจะดูแลทุกอย่างเอง”

งานออกแบบเพื่อสุขภาวะจึงไม่ใช้แนวคิดในตั้งเป้าหมายการใช้ชีวิตที่ขัดต่อธรรมชาติ แต่เป็นตรงกันข้าม คือการทำงานออกแบบเพื่อสนับสนุนให้ผู้คนใช้ชีวิตไปตามวิถีที่ธรรมชาติเดิมวางกรอบไว้ และนำเอาความสร้างสรรค์ของมนุษย์มาช่วยเพิ่มคุณค่า เติมเต็มความคาดหวัง เสริมสร้างสุนทรียะในการใช้ชีวิตในแบบสังคมมนุษย์ เกื้อหนุนสิ่งแวดล้อมและระบบทั้งหมดในจุดที่ทำได้ให้ดำเนินไปอย่างสมดุล 

แนวทางการออกแบบเพื่อสุขภาวะที่สำคัญคือการออกแบบเพื่อป้องกันการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อโรคภัย เราสามารถมองความเสี่ยงต่อโรคภัยเป็นสองส่วนคือโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ ซึ่งทั้งสองโรคมีฐานปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงกันคือระบบร่างกายและสิ่งแวดล้อม ขอยกตัวอย่างให้เห็ฯภาพในงานออกแบบต่างๆ เช่น การออกแบบที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ตั้งแต่ตัวอาคารและระบบ ถ้านำเอาแนวคิดการออกแบบเพื่อสุขภาวะโดยวางให้ธรรมชาติเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญ จะทำให้เรามองว่าผู้อยู่อาศัยจะต้องเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมภายนอกให้มากที่สุด เช่น เปิดรับอากาศภายนอกให้มากที่สุดตลอดเวลา รับแดดให้มาก อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต เช่นดิน ต้นไม้ น้ำ ลม คิดรวมกับความคาดหวังเพื่อเสริมสร้างสุนทรียะในการใช้ชีวิตในแบบสังคมมนุษย์ จะเกิดความท้าทายใหม่ๆ ในการออกแบบที่จะอย่างไรให้เย็นสบาย รับแสงแดดโดยไม่ร้อนแผดเผา มีธรรมชาติอยู่รอบตัวโดยสามารถดูแลให้สวยงามได้ เป็นต้น หรือมองถึงการทำกิจกรรมเช่น นั่งทำงาน การเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่มีกระดูกสันหลังที่ตั้งตรงที่ต้องต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงนั้น ไม่เหมาะจะอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งที่กระดูกสันหลังตั้งค้างอยู่เป็นเวลานาน ธรรมชาติออกแบบร่างกายเราให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ เราก็จะเห็นถาพแนวคิดการออกแบบระบบการทำงาน (ต้องออกแบบทั้งระบบ) ที่จะสนับสนุนธรรมชาติด้านนี้ เพื่อให้ร่างกายดำเนินไปตามวิถีธรรมชาติ เราจะมองพื้นที่ทำงานเป็นรูปแบบใหม่ และก็จะเกิดความท้ายทายใหม่เพื่อประสิทธิผลในการทำงานที่ดียังคงอยู่ เราอาจจะมองได้ว่า เดินไปประชุมไปก็ได้? ยืนทำงานได้? นอนได้? ทั้งหมดเป็นไปได้มั๊ยถ้าออกแบบกันใหม่ทั้งระบบ? การป้องกันเชื้อโรคติดต่อสู่กัน หากเข้าใจธรรมชาติของเชื้อโรคแต่ละอย่างเราก็สามารถออกแบบพื้นที่กิจกรรมต่างๆ ให้ป้องกันได้เช่นระยะห่างของพื้นที่ทำงาน การระบายอากาศ ความสะอาดที่เหมาะสม อาหารที่รับประทานหากมองธรรมชาติความเชื่อมโยงของจุลินทรีย์ขนาดเล็กในดิน ที่สร้างสารอาหารต่างๆ ให้พืช คือบทบาทสำคัญของอาหารที่มีผลต่อสุขภาพ เราจะออกแบบระบบการผลิตอาหารที่มีความสัมพันธ์กันของพืชและสัตว์ เพื่อให้เราบริโภคคุณค่าของทั้งระบบในธรรมชาตินั้นเข้ามาดำเนินชีวิตให้เสริมสร้างธรรมชาติภายในร่างกาย ให้สมดุล การออกแบบระบบการผลิตอาหารก็จะมองเห็นรูปแบบใหม่ๆ ของระบบการผลิตอาหารเพื่อสนับสนุนระบบอาหารจากนิเวศน์ที่สมดุลที่มีคุณค่าต่อสุขภาวะ มากกว่าระบบการผลิตอาหารเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากแต่คุณค่าต่อสุขภาวะร่างกายน้อย ความท้าทายก็คือจะลดความสูญเปล่าในกระบวนอย่างไร? จะสร้างสรรค์รูปแบบอาหารที่เติมเต็มความพึงพอใจอย่างไร? ปริมาณและเวลาการการกินที่เหมาะสมเป็นอย่างไรในแต่ละกิจกรรม? และอีกมากมาย จากตัวอย่างสองสามเรื่องคงพอเห็นภาพแนวทางการออกแบบเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืนบ้างแล้ว 

เห็นได้ว่าแทบจะทุกเรื่องในการดำเนินชีวิตสังคมปัจจุบันที่เราดำเนินชีวิตต่อเนื่องมาจากอดีตที่มีความรู้ด้านต่างๆ ไม่ลึกซึ้งเชื่อมโยงมากพอ วันนี้เรามีความเข้าใจความเชื่อมโยงธรรมชาติมากขึ้น สิ่งต่างๆ ต้องการการออกแบบใหม่หลายระบบที่กำลังส่งผลเสียต่อสุขภาวะในปัจจุบัน เพื่อรักษาฟื้นฟูระบบนิเวศน์ภายในร่างกายของเราให้กลับมาแข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อรักษาฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในสิ่งแวดล้อมให้กลับมาแข็งแรงสมบูรณ์ คืนอำนาจให้ธรรมชาติดูแลเราและปรารถนาให้ระบบที่ซับซ้อนนี้ฟื้นตัวโดยเร็ว

เรื่องที่ต้องมองต่อไปอีกก็คือ การที่จะทำอย่างไรให้สิ่งที่ออกแบบนี้ยืดระยะเวลารักษาคุณค่าให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะสามารถจินตนาการความยั่งยืนของระบบต่างๆ ได้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นสอดคล้องกับระบบการเปลี่ยนแปลงของธรมชาติที่ใช้เวลายาวนาน สิ่งที่มนุษย์ออกแบบควรมีความสามารถที่จะประสานระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามธรรมขาติ (เดิมทีอารยะธรรมมนุษย์ดำเนินตามจังหวะธรรมชาติ) การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสามารถสร้างคุณค่าและความพึงพอใจให้เราได้นาน จนถึงกาลอันควรที่จะจากไป น่าจะเป็นมุมมองใหม่ของการออกแบบระบบในอนาคต

ชีวิต จิตใจ และร่างกายเราคือระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ หน้าที่ที่ดีที่สุดของเราคือ ออกแบบพัฒนาให้เกิดสภาวะอันสมดุลรวมทั้งภายในและภายนอก จากนั้นระบบธรรมชาติทั้งหมดแข็งแรงก็จะดูแลสุขภาวะของเราเอง

Scroll to Top