พลังงานทางรอด
พงศธร ละเอียดอ่อน
Executive Director
FiF Design Studio
เมื่อเรานึกถึงพลังงานกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีต ภาพแรกที่เรานึกได้คือไฟ เป็นพลังงานที่ทำให้ มนุษย์ขยายขีดความสามารถในการใช้ชีวิต การล่าสัตว์ที่ทำได้มากขึ้นจากการเผาไล่ต้อน การบริโภคอาหารได้มากชนิดขึ้นจากการใช้ไฟหุงต้ม ความอบอุ่นและแสงสว่างในยามค่ำคืนที่ทำให้ชีวิตมีความสบายมากขึ้น แสงสว่างและความร้อนจึงเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมมนุษย์เรื่อยมาที่ทำให้เรามีความแตกต่างจาก สิ่งมีชีวิตอื่นใดในโลก เพราะมนุษย์รู้จักใช้ไฟ
เราพยายามหาทรัพยากรในการสร้างไฟเพื่อนำมาใช้งาน ทดแทนจาการเผาไม้ เรามีวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้น เราพบถ่านหิน เราพบก๊าซ เราพบน้ำมัน เราพบปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น และอีกหลายอย่างที่เราจะนำมาใช้สร้างแสงสว่างและความร้อน ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้เพียงแต่นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตโดยตรง แต่มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิต ความเป็นอยู่ พลังงานถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่สำคัญของสังคมมนุษย์ในปัจจุบันอย่างขาดไม่ได้
จะเห็นได้จากสถานการณ์พลังงานปัจจุบัน สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน การคว่ำบาตรของนาโตและสหรัฐอเมริกา และมาตรการตอบกลับของรัสเซียในการสร้างความขาดแคลนพลังงานในสหภาพยุโรป ทำให้เกิดวิกฤตขึ้นทันที จากสถานการณ์นี้ทำให้เราเห็นได้ว่า สังคมมนุษย์พึ่งพาพลังงานอย่างขาดไม่ได้ ฝังรากลงไปจนทำให้เมื่อเกิดความขาดแคลนแม้แต่เพียงระยะสั้น ก็ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นได้มากมาย จากเหตุการณ์นี้มีภาพที่ทำให้ชวนคิดต่อไปว่า อนาคตการออกแบบด้านต่างๆ เพื่อที่มนุษย์จะได้ใช้ชีวิตตามที่ต้องการได้นั้น รูปแบบการใช้พลังงานควรจะเป็นอย่างไรที่จะทำให้เมื่อเกิดเหตุการขาดแคลนแล้ว ผลกระทบในการดำเนินชีวิต จะไม่รุนแรงอย่างที่เป็นอยู่อย่างปัจจุบัน
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งก่อนนั้นก็คือ เรามีการบริโภคพลังงานเกินความจำเป็น จากการผลักดันของธุรกิจและการตลาด จาก 50 ปีที่ผ่านมาเราสร้างสิ่งต่างๆ ออกมามากมาย และเกิดรูปแบบของการใช้ชีวิตที่บริโภคพลังงานอย่าง มากมาย เพราะเรามีความปักใจเชื่อว่า พลังงานรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้สามารถถูกดึงและคิดค้นออกมาใช้ได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น เราเชื่อมั่นว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ จะไม่หมดไป และถึงบางอย่างจะ หมดไป ก็จะมีสิ่งทดแทนที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะสามารถคิดค้นนำออกมาทดแทนได้ เราจึงดันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบเท่าที่จะคิดออกเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เราเริ่มเห็นผลกระทบ และในระยะยี่สิบปีที่ผ่านมามีมาตรการกฎระเบียบต่างๆ ออกมามากมายเพื่อเหยียบเบรกการบริโภคพลังงานของโลก แต่ดูเหมือนแรงขับดันด้านเศรษฐกิจจะหยุดชะงักไม่ได้ ดังนั้นเราจึงค้นหาวิธีประหยัดพลังงาน และหาแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อรองรับอนาคต โดยที่ยังคงรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้เหมือนเดิม สำหรับผมเหมือนภาพของคนอ้วนที่พยายามคิดหาของกินที่อร่อยและกินได้เท่าเดิมโดยให้ผอมลง มันดูเป็นแนวคิดที่แปลกๆ สำหรับผม
- มันมีคุณค่าที่จำเป็นไหมในการทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น คำถามเริ่มต้นที่สำคัญที่ผมชอบถามก่อนเสมอ คือ “ทำทำไม” ไม่ใช่ทำอะไรหรือทำอย่างไร หากสิ่งที่เรากำลังจะทำขึ้นมานี่ไม่มีอะไรดีกว่าสิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว ไม่ได้มีอะไรที่จะมีคุณค่าใหม่ที่แตกต่าง เหตุผลในการสร้างตัวเลือกขึ้นอีกหนึ่ง ก็จะมีหนึ่งตัวเลือกที่จะไม่ได้ถูกเลือกนั้นเท่ากับการสูญเสียพลังงานไปโดยไร้ค่าถึงเท่าตัว และเมื่อมองดูในตลาดสินค้า มีธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สร้างตัวเลือกที่ไม่มีคุณค่าที่แตกต่าง เข้ามาในตลาดในแต่ละอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 3-5 ราย ผู้บริโภค 1 รายก็จะเลือกได้เพียง 1 สิ่ง ที่เหลือก็จะเป็นพลังงานที่สูญเปล่าในการผลิตขึ้นมา หากการเริ่มต้นคิดสิ่งต่างๆ ให้มีคุณค่าที่แตกต่างได้อย่างเป็นสิ่งใหม่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องถูกใช้ ตรงนั้นคือความคุ้มค่าของการใช้พลังงาน
- ตลอดกระบวนการตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการผลิต สามารถใช้พลังงานได้ต่ำที่สุดแค่ไหน “น้อยคือมาก” (less is more) น่าจะเป็นมุมมองที่นำมามองในจุดนี้ ออกแบบอย่างไรให้ทุกอย่างใช้ทรัพยากรและพลังงานให้น้อยที่สุด และได้ผลลัพธ์มากที่สุด ชิ้นส่วนที่น้อยที่สุด ขนาดที่เล็กที่สุด ผลิตง่ายที่สุด ขนส่งเบาที่สุด ใช้แสงธรรมชาติเข้ามาในอาคาร ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ การคิดแบบนี้ท้าทายนักออกแบบในรายละเอียดทุกมิติ ที่จะตัดลดทุกอย่างลงให้มากที่สุดโดยยังคงคุณค่าทุกด้านและประสิทธิภาพการใช้งานเท่าเดิม
- ผู้ใช้คือผู้มีส่วนร่วม การเอาอกเอาใจผู้บริโภคเกินกว่าเหตุ จากยุคของการตลาดที่มองว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” ที่จะต้องเอาอกเอาใจให้ถึงที่สุด จึงต้องทุ่มเททรัพยากรทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สร้างความพึงพอใจ และสร้างนิสัยของการเสพติดความสะดวกสบายเกินกว่าเหตุให้เกิดขึ้นในสังคม หากเราชวนลูกค้าของเราเข้ามาอยู่ในเกมส์ของการลดพลังงาน เช่น การถอดประกอบให้ชิ้นส่วนมีขนาดเล็กลงเพื่อประหยัดพื้นที่ในการขนส่ง โดยให้ลูกค้านำไปประกอบเองที่บ้าน หรือแทนที่จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเปลี่ยนมาใช้มือหมุน หรือออกแบบให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนอะไหล่เองได้ ซ่อมบำรุงเองได้ หรือสนับสนุนให้มีพื้นที่ส่งเสริมการเดินแทนการใช้บันไดเลื่อนหรือลิฟต์
- ทำขึ้นมาแล้วใช้ได้ยาวนาน การทำให้สิ่งต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วนั้นอยู่ได้นาน ช่วยลดการทิ้งการสร้างใหม่ และที่สำคัญคือระหว่างที่ใช้งานอยู่นั้นมันใช้พลังงานต่ำที่สุดในการทำงาน ใช้พลังงานที่สะอาด (renewal energy) เช่น แสงอาทิตย์ พลังมนุษย์ ฯลฯ ผมยังชอบไฟฉายที่ใช้มือหมุนเพื่อสร้างพลังงานและมีติดบ้านไว้ใช้ มันก็ใช้ได้เรื่อยๆ นาฬิกา automatic ที่ใช้ได้เรื่อยๆ หรือถ้าต้องใช้ไฟฟ้าก็ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต้องเปลี่ยนหรือชาร์ตถ่าน จักรยานถีบที่ใช้เดินทางระยะใกล้ในเมืองได้สะดวกสบาย เก้าอี้ที่ใช้มือหมุนปรับระดับแทนการใช้ไฟฟ้า ฯลฯ แนวคิดเหล่านี้ดูเหมือนแนวคิดโบราณ แต่หากนำมาออกแบบในบริบทแห่งศตวรรษที่สิบเอ็ดแล้วสามารถเกิดเป็นไลฟ์สไตล์ที่มีความน่าสนใจในบริบทของการประหยัดพลังงาน ยิ่งจะเป็นสินค้าที่มีคุณค่า รักษ์โลก และมีความยั่งยืนในการใช้งาน
- เมื่อไม่ใช้แล้วผู้ใช้สามารถแยกชิ้นส่วนเพื่อลดขนาดการขนไปทิ้ง และนำวัสดุที่ recycle ได้ส่งไปยังกระบวนการ recycle การขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ เช่น ตู้ เตียง เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในบ้าน เพื่อกำจัดทิ้งหลังจากหมดอายุการใช้งาน ถ้าหากการออกแบบไม่ได้ถูกคิดให้สามารถทำให้มีขนาดเล็กลงได้หรือแยกชิ้นส่วนได้ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่งเป็นอย่างมาก
แนวทางทั้ง 5 ที่กล่าวมา อาจะต้องแลกมากับความสะดวกสบายที่ลดลงบ้างสำหรับผู้ใช้ แต่หากเรา ชี้ให้เห็นได้ว่าการกระทำที่เกิดขึ้นที่แลกกับความสะดวกสบายนั้นสร้างคุณประโยชน์อะไรบ้าง ผมเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่จะเข้าใจการออกแบบการสื่อสารที่ดีต่อสังคมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน หากมองดีๆ จะเห็นว่าเราแลกความสะดวกสบายกับความทุกข์กายใจหลายอย่าง เช่น โรคปวดหลังที่เกิดจากการขับรถ การใช้ร่างกายที่น้อยลงจาก สิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านทำให้ไม่ได้ใช้ร่างกาย และตามมาด้วยสมถนะที่ลดลง ต้องไปเสียพลังงานในการไปออกกำลังกายในยิมติดแอร์ ไฟสว่าง เพลงดัง การดื่มน้ำเย็นที่ให้ผลเสียกับร่างกายมากกว่าน้ำในอุณหภูมิปรกติ สายตาที่เสียในการดูโทรทัศน์จอใหญ่ และอีกหลายเรื่องที่เราเสียทั้งสุขภาพกายใจจากวิถีชีวิตที่ใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นหากมองในภาพที่ใหญ่ ทั้งด้านพลังงานและสุขภาพกายใจของเราเอง อนาคตของการใช้ชีวิตที่ดีกับเรื่องทั้งสองน่าจะเป็นอนาคตที่ตัวเราเองต้องตอบคำถามทั้ง 5 ข้อ กับการเลือกแนวทางการใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทันผลกระทบทั้งกับตัวเอง และกับการใช้พลังงาน การใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์ในระยะทางสั้นๆ ใกล้บ้าน สำหรับบางคนที่ทำงานใกล้บ้าน อาจจะลดการใช้น้ำมันลงไปได้กว่า 80% การเปิดหน้าต่างประตูรับอากาศสบายๆ ใช้พัดลมแทนเครื่องปรับอากาศในเวลาที่ไม่ร้อน การเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ก็จะช่วยประหยัดพลังงานได้ไม่น้อย การเลือกทานอาหารร้านใกล้บ้าน การใช้ชีวิตในชุมชน การมีกิจกรรมยามว่างที่ไม่ใช้พลังงานเช่น เดิน วิ่ง หรือนั่งอ่านหนังสือ การเลือกสินค้าที่คิดออกแบบมาดี การไม่ใช่สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ฯลฯ รายละเอียดเหล่านี้ล้วนมีผลทั้งสิ้นต่อการทำให้ความยั่งยืนด้านพลังงานของมนุษย์ในอนาคตมีความเป็นไปได้
เราไม่ควรใช้พลังงานอย่างประมาท และทิ้งความเสี่ยงไว้ให้ลูกหลานเผชิญกันต่อไป หากครอบครัวหนึ่งสามารถปลูกฝังจิตสำนึกการใช้ชีวิตพลังงานต่ำได้และขยายออกไปกับคนรอบตัว ผมเชื่อมั่นเหลือว่าความสุขของมนุษย์ ไม่ได้แปรผันตรงกับพลังงานที่ใช้ เรามีความรู้มากมายที่จะนำมาใช้ได้มากกว่าคนในอดีต ซึ่งในอดีตมีใช้พลังงานต่ำกว่าเรามากในการมีความสุขในชีวิต ดังนั้นจึงมีเป็นความเป็นไปได้ที่เราย้อนระดับการใช้พลังงานให้กลับสู่ระดับที่มีความมั่นคงให้กับลูกหลานต่อไปได้ในอนาคต และเราคงไปบอกคนอื่นให้ทำไม่ได้ แต่เราสามารถจัดการตัวเองและครอบครัวได้ และถ้าทุกคนทำพร้อมกัน พลังงานที่มีก็จะพอเพียงสำหรับมนุษย์ทุกคนต่อไป