กฎหมายในยุคโลกเสมือนจริง

ในปัจจุบันโลกแห่งอนาคตที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นโลกเสมือนจริงในจินตนาการของพวกเรา ได้เริ่มเข้ามาในชีวิตจริงมากยิ่งขึ้นทั้งในกิจกรรมต่างๆ ในกระแสความคิด อุปกรณ์การเล่นเกมส์ ภาพยนตร์เสมือนจริง โดยมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น โดยมีความเกี่ยวข้องในกิจกรรมที่มีผลทางกฎหมาย ทั้งในการทำสัญญาซื้อขาย การใช้เงินตราในโลกออนไลน์ (Cryptocurrency) เป็นสกุลเงินแรกของโลกที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน (Blockchain) หรือ บิทคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลโดยปราศจากธนาคารหรือผู้คุมระบบทางการเงิน เป็นการซื้อขายที่เกิดขึ้นระหว่างเครือข่ายโดยตรง ผ่านการเข้าระบบโดยใช้รหัสและไม่มีสื่อกลางควบคุม โดยมีการเผยแพร่ในรูปแบบซอฟต์แวร์ในปี 2552 เป็นต้นมา

​ทั้งนี้ได้มีผู้ใช้เงินตราแบบดิจิทัลประมาณ 2.9 ถึง 5.8 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้นอย่างร้อนแรงและต่อเนื่องตามกระแสนิยม ด้วยมีปริมาณการซื้อขายสกุลเงินนี้อย่างมากในแต่ละวันประกอบกับเริ่มมีสกุลเงินรูปแบบอื่นๆ เข้ามาและมีบทบทในโลกของการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ซึ่งธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกัลบิทคอยน์แต่ละรายการจะถูกบันทึกไว้ในบัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์ ไม่มีการควบคุมกำกับดูแลของรัฐบาลและธนาคารใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้ยากที่จะทำการดัดแปลงหรือทำลายทิ้ง ล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 บิทคอยน์ถูกใช้ไปในโลกแล้วกว่า 18.97 ล้านเหรียญ หรือราว 90% ของจำนวนบิทคอยน์ทั้งหมด เป็นผลมาจากธุรกิจแหล่งต่างๆ เริ่มมีนโยบายในการรับบิทคอยน์เพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น Expedia หรือบริการเสริม Rukuten Pay หรือในประเทศไทยเองก็มีห้างสรรพสินค้ารายใหญ่เริ่มเปิดรับสกุลเงินดิจิทัลนี้ด้วยเช่นกัน

​ในระยะแรกรัฐบาลหลายประเทศไม่ยอมรับเงินสกุลดิจิทัล สำหรับใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับเงินสดในสกุลเงินต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลจีนที่มีการกวาดล้างและประกาศอย่างชัดเจนว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่บางประเทศก็สนับสนุนการใช้เงินสกุลดิจิทัลให้สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับเงินสดในสกุลต่างๆ ที่มีใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังมีความกังวลและได้พิจาณาสร้างกลไกมาควบคุมสกุลเงินดิจิทัล โดยใช้กฎหมายมาควบคุมความเสี่ยงและมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน หรือความเสี่ยงในความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล จึงมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายมาควบคุมเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีต่อผู้เข้ามาใช้งานในอุปกรณ์หรือระบบดิจิทัล รวมถึงควบคุมการทำธุรกรรมต่างๆ ในการซื้อขายที่ต้องใช้สกุลเงินนี้ ตั้งแต่การทำสัญญาซื้อขาย การเช่า การแลกเปลี่ยน การครอบครอง การโอนกรรมสิทธิ์ ประการสำคัญคือป้องการการฉ้อโกงที่อาศัยช่องว่างในการใช้เงินสกุลดิจิทัล

​สำหรับในประเทศไทยได้เริ่มตระหนักและมีการใช้กฎหมายในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของผู้เประกอบการที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการเชื่อมต่อธุรกิจประเภทนี้บนเครือข่ายต่างๆ ซึ่งมีหน่วยงานของรัฐ อาทิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพทอ.) หรือ ETDA ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. โดยจะมีการใช้กลไกทางกฎหมายมาควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนั้นยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับดังนี้

  1. พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 
    • ​เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมกำกับดูแลในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ ตลาดทุน และธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้มีองค์กร(คณะกรรมการ ก.ล.ต.) และหน่วยงาน (สำนักงาน ก.ล.ต.) ให้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีความเชื่อมโยงกับพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ในมาตรา 5 ที่แม้จะอยู่ในรูปของหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าว แต่ก็ทำให้กฎหมายทั้งสองฉบับมีความเชื่อมโยงกันอยู่ กล่าวคือมีองค์กรและหน่วยงานในการควบคุมกำกับดูแลเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึงสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) อีกด้วย
  2. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 
    • กฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อควบคุมและป้องกันผู้ประกอบการ อาชญากรรมที่นำเงินหรือทรัพย์สินมากระทำการในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นการฟอกเงิน นำไปใช้ในการกระทำความผิด โดยใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นการเฉพาะการฟอกเงิน โดยเมื่อมีการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน ทางสถาบันการเงินต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นไปตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
  3. พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 
    • เป็นกฎหมายที่รองรับสถานะทางกฎหมายของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการทำธุรกรรมที่พัฒนาเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะเรื่อง นอกเหนือไปจากการทำธุรกรรมอื่นๆ โดยทั่วไปที่มีกฎหมายรองรับไว้แล้ว อาทิเช่น การใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมไปถึงการรับฟังพยานหลักฐานต่างๆ ที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้มีผลในทางกฎหมายเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมอื่นเช่นกัน
  4. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551
    • กฎหมายฉบับนี้มุ่งหมายที่จะกำหนดประเภทธุรกิจที่ต้องขออนุญาตก่อนมีการให้บริการ และต้องได้รับการอนุญาตก่อนให้บริการจึงจะสามารถประกอบธุรกิจได้ ดังนั้นการทำธุรกิจเกี่ยวกับการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินดิจิทัลในการซื้อสินค้าหรือบริการ จึงเป็นการประกอบธุรกิจตามบัญชีประเภท ข หรือบัญชีประเภท ค ตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย
  5. พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 
    • กฎหมายนี้มีขึ้นเนื่องจากความต้องการนำระบบเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการอย่างเป็นระบบ ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพในการให้บริการเป็นไปตามระบบเศรษฐกิจและสังคมในเชิงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ครอบคลุมถึงสกุลเงินดิจิทัลด้วย โดยมีองค์กรทั้งที่เป็นคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คณะกรรมการเฉพาะด้าน หรือองค์กรที่เป็นหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นำไปสู่นโยบายและแผนระดับชาติอย่างชัดเจนต่อไปในอนาคต
  6. พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
    • ​เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลและบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่มีศักยภาพ รวมถึงประชาชนและผู้เกี่ยวข้องและป้องกันไม่ให้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการหลอกลวงประชาชน โดยมีการควบคุมจากภาครัฐในการพิจารณาอนุญาตการประกอบธุรกิจดิจิทัล ตามมาตรา 26 และ มาตรา 27 ของพระราชกำหนดฉบับนี้ เพื่อป้องกันการกระทำที่ไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีบทลงโทษทางอาญาและการลงโทษทางแพ่ง โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำ, ผลกระทบต่อตลาด, พยานหลักฐานพิสูจน์ความผิด และความคุ้มค่าในการดำเนินมาตรการนั้นๆ
  7. พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561
    • กฎหมายนี้มีวัตถุหประสงค์เพื่อการจัดเก็บภาษีเงินได้ จากเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือครองหรือครอบครองสกุลเงินดิจิทัล โดยเพิ่มมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร โดยกำหนดให้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอเรนซี่หรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทหนึ่ง นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ดังกล่าว ตามมาตรา 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร อีกด้วย
  8. พระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562
    • เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับการพัฒนาด้านนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งมีความครอบคลุมถึงการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การจัดจำหน่าย หรือการให้บริการ ที่จะต้องอยู่ภายในขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ โดยมีการจัดตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากการรวมตัวของภาคเอกชนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ในการทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อยกระดับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ระดับสากล

​​จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลมีความหลากหลายและบทบาทของกฎหมายในแต่ละฉบับตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่มีความเป็นเอกภาพ มีมุมองและหรือวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และมีหลายหน่วยงานมาควบคุมดูแลกำกับ จึงสมควรมีกฎหมายหลักเฉพาะเรื่องมาบูรณาการในภาพรวมทั้งระบบในสกุลเงินดิจิทัลอย่างชัดเจน โดยมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักที่จะรวบรวมและควบคุมการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมให้ทันท่วงทีกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไปเพื่อป้องกันปราบปรามและวางมาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองประชาชนและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป

ที่มา : ทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

Scroll to Top