การแก้ไขกฎหมายใหม่ เกี่ยวกับดอกเบี้ยผิดนัด

นับจากอดีตที่ผ่านมา ในสังคมที่มีความก้าวหน้าทั้งสังคมและเศรษฐกิจย่อมมีความต้องการที่จะรักษากฎหมายให้เป็นปัจจุบันเสมอ ดังนั้น การใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม และการเข้าถึงกฎหมายที่มีอยู่ได้ ซึ่งกฎหมายนั้นต้องสามารถเข้าใจได้ มีเหตุผลก็เพื่อที่จะละทิ้งกฎหมายที่ล้าสมัยไปเพื่อแก้ไขสิ่งที่เป็นภาระหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้มีกฎหมายที่มีระเบียบโดยสมบูรณ์ตามความเป็นจริงในหลักการเป็นการนำเอาหลักกฎหมายที่สำคัญ (leading Rules of  Law) มารวบรวมให้เป็นระบบรูปแบบเดียวกันเป็นกฎหมายฉบับเดียวอย่างเป็นระเบียบ ไม่ล้าสมัย และนำกฎหมายมาใช้อย่างเป็นธรรม

​แต่โดยที่ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.12 – 1.30 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปัจจุบันคือร้อยละ 5.90 แต่กรณีดอกเบี้ยผิดนัดชำระกลับอยู่ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีซึ่งมีอัตราสูงเกินส่วนไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันอีกต่อไป และส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา อาทิ ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินควร ไม่สามารถผ่อนจ่ายได้จนกลายเป็นหนี้สูญ และกรณีเจ้าหนี้บางรายได้ฉวยโอกาสจากความคลุมเครือของกฎหมาย มุ่งเอาเปรียบลูกหนี้จากการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัด โดยเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งจะต้องจ่ายดอกเบี้ยของเงินต้นที่เหลืออยู่ทั้งหมด ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในภาพรวมในทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้ทันสมัย เป็นธรรม และสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อช่วยลดภาระของลูกหนี้จากการชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินควร อีกทั้งยังเป็นการปฏิรูปกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย

จากที่กล่าวมาประเทศไทยพบว่าในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ในระหว่างที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่ง ที่ถือเป็นเรื่องในทางแพ่งที่จะต้องมีการดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินระหว่างคู่กรณี แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยพบการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นมาตรการใหม่จากภาครัฐที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจึงได้เข้ามาควบคุมการคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงเกินกว่าที่เจ้าหนี้ควรจะได้รับจากลูกหนี้ สำหรับในส่วนที่เป็นหนี้ในระบบ ไม่ใช่หนี้นอกระบบที่มีกฎหมายควบคุมอย่างเด็ดขาดที่มีโทษในทางอาญาอีกกรณีหนึ่งต่างหากอย่างชัดเจน 

​ความมุ่งหมายในการพิจารณาแก้ไขอัตราดอกเบี้ยโดยที่ที่มิได้กำหนดไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานโดยมิได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยเกินสมควร สมควรปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและกำหนดวิธีการในการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจ พร้อมทั้งกำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้เหมาะสม ประกอบกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างกว้างขวาง ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงเป็นภาระอย่างมากต่อลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งประชาชนทั่วไปและก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สมควรที่รัฐจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าวโดยเร่งด่วน จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ขึ้น

​กฎหมายฉบับที่มีการแก้ไขนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔” โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ ในสาระสำคัญคือใน มาตรา ๓ กำหนดไว้ว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี” นับว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลดีในส่วนลดของอัตราดอกเบี้ยมากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ในทางกลับกันคงเป็นผลเสียกับเจ้าหนี้ที่ได้รับรายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง แต่หากถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายได้ ก็ให้คงคิดอัตราดอกเบี้ยต่อไปตามนั้นได้หมายความว่าเจ้าหนี้ยังคงเรียกอัตราดอกเบี้ยที่ได้ทำสัญญากันไว้ในอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่ได้ตกลงกันไว้ต่อไป

​สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้โดยสรุปมีการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องดังต่อไปนี้

  1. อัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง โดยปรับจากอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นอัตราร้อยละสามต่อปี โดยอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
  2. อัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดยปรับจากอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี (เท่ากับอัตราร้อยละ 5 ต่อปี)
  3. กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจคำนวณจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น
  4. กำหนดบทเฉพาะกาลให้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ใช้กับการคิดดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่จะมีผลให้ข้อตกลงที่กำหนดให้เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ค้างชำระทั้งหมดตกเป็นโมฆะทันทีที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ

​สรุปได้ว่าเมื่อมีการใช้กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จะนำมาใช้กับหนี้ตามกฎหมายในช่วงเวลาที่กฎหมายมีผลใช้บังคับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นที่แน่นอนว่ามีทั้งฝ่ายที่ได้รับประโยชน์และฝ่ายที่เสียประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว แต่เพื่อให้ไม่เกิดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยในระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงไป จึงส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เป็นมาตรการนำร่องจากภาครัฐที่จะควบคุมอัตราดอกเบี้ยในทางแพ่งให้เกิดความสมดุลในสังคมและเศรษฐกิจต่อไป

ที่มา : ทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

Scroll to Top