Pollution กับแนวคิดการออกแบบเพื่อลดผลกระทบด้านมลพิษ

พงศธร ละเอียดอ่อน
Executive Director
FiF Design Studio

โลกในความเป็นปรกติธรรมชาตินั้น เป็นวิวัฒนาการที่มีมายาวนานหลายพันล้านปี โลกในสถานะของดาวเคราะห์ดวงหนึ่งจักรวาล เริ่มจากลักษณะของความไม่สมดุลต่อการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิต โลกมีมลพิษมากมาย มีบรรยากาศที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิต ส่วนมลพิษเหล่านั้นค่อยๆ เข้าสู่จุดที่เหมาะสมและในระยะเวลาหนึ่งแสนกว่าปีที่ผ่านมาจึงเกิดมนุษย์ขึ้น แต่โลกก็ยังมีความวุ่นวายของบรรยากาศและมลพิษ อยู่หลายยุคหลายสมัย ภูเขาไฟระเบิด ความหนาวเย็น และอื่นๆ สร้างความยากลำบากให้กับมนุษย์ในอดีตเป็นอย่างมาก ส่วนในช่วงหมื่นปีท้ายนี่เอง โลกเริ่มมีความงดงามและมีความสงบสุข และมนุษย์ก็ได้พบกับสรวงสวรรค์อย่างแท้จริงบนดาวเคราะห์ดวงนี้

เราใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์วิถีชีวิต ให้สอดคล้องกับความสะดวกสบายที่มนุษย์ต้องการ เราปฏิเสธการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ และมนุษย์ก็ประกาศชัยชนะของการอยู่เหนือธรรมชาติ โดยเข้าใจว่าต่อไปนี้ มนุษย์สามารถใช้ชีวิตตามที่ตนต้องการโดยไม่จำเป็นต้องยอมรับและปรับตัวเข้าหาธรรมชาติ แต่สามารถปรับธรรมชาติให้เข้าหาตัวเราได้ การประกาศชัยชนะเหล่านี้เห็นได้จากอนุสาวรีย์ในยุคหลังที่นำเอารูปปั้นของมนุษย์ขึ้นมาเชิดชูแทนที่รูปปั้นของเทพเหมือนสมัยก่อน เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติไม่มาก (เทียบกับความเป็นไปที่กำลังเกิดขึ้นในสากลจักรวาลทั้งหมด) แต่เราลงมือกระทำเพื่อสร้างสิ่งที่เราต้องการมากมายมหาศาล โดยไม่เข้าใจชัดเจนว่าการกระทำเหล่านั้นจะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อไป

ผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของบรรพบุรุษของมนุษย์ในอดีตในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา เป็นผลกระทบที่มองเห็น แต่มีความพยายามที่จะไม่มองหรือไม่เห็น เพราะมีเรื่องราวมากมายที่พันผู้เกี่ยวข้องกัน ทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ดังนั้นผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงถูกเก็บไว้ ให้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ รอวันที่จะระเบิดขึ้นมา เมื่อถึงวันนั้นเราก็จะคิดว่าภาวะเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และเราก็ต้องยอมรับมัน ผลที่เกิดขึ้น ณ วันนั้นซึ่งมนุษย์โดยส่วนใหญ่ในโลก จะถูกมองเป็นภัยธรรมชาติและหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ และทุกคนจะตกในสภาพเดียวกันคือรับผลร่วมกัน เมื่อต้นกำเนิดของมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในโลก เกิดจากความพยายามในการออกแบบวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีต ดังนั้นการออกแบบชีวิตเพื่อการลดมลพิษจึงควรเป็นหน้าที่ของมนุษย์ในปัจจุบัน ดังนั้นแนวคิดที่ทำได้ไม่ยากสำหรับการออกแบบวิถีชีวิตเพื่อลดผลกระทบด้านมลพิษคือ Reduce Reuse Recycle

  1. Reduce มองไปในชีวิต ของเราเองตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอน จุดใดที่เราสามารถลดการใช้ ทรัพยากร ต่างๆ ที่มนุษย์ออกแบบโดยมีกระบวนการที่ต้องนำทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติมา เข้าสู่กระบวนการ หรือสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อให้เกิดเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในการใช้งาน ขอให้มองว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่ผ่านกระบวนการ จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่จะต้องถูกกำจัด และเกิดเป็นมลพิษในธรรมชาติไม่มากก็น้อย ดังนั้นหากเราสามารถลดอะไรได้ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เราก็จะช่วยลดปัญหาในการเกิดมลพิษได้ เช่นหากเราเดินหรือใช้จักรยานไปหน้าหมู่บ้านเพื่อซื้อของ เราก็ลดการใช้รถยนต์ลง ลดการกินขนมห่อลง ลดการดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำจากขวดลง ลดการเปลี่ยนแฟชั่นเสื้อผ้าลง ลดการใช้เครื่องสำอางลง ลดการเปิดเครื่องปรับอากาศลง ฯลฯ อะไรก็ตามที่เราสามารถลดลงได้ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมุมไหนก็ตาม ที่เป็นการใช้สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นให้น้อยลง มีส่วนช่วยในการลดมลภาวะทั้งสิ้น
  2. Reuse เมื่อลดปริมาณ การใช้ทรัพยากรที่จำเป็นนั้นให้นานที่สุด นำกลับมาใช้ ไม่ทิ้งไปโดยง่าย ก็จะเป็นการลด การที่จะต้องนำวัสดุใหม่มาใช้ ดังนั้นในการตัดสินใจแต่ละครั้งเพื่อที่จะเลือกผลิตภัณฑ์ สินค้าต่างๆเข้ามาในชีวิต หากพิจารณาในมุมมองของการที่สิ่งนั้นจะสามารถอยู่กับเราไปนานๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณภาพความทนทาน รูปแบบที่สวยงามถูกใจเราไปนานนาน และเป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัยไปกับแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไป เหล่านี้จะช่วยทำให้ สิ่งที่เราจะต้องนำมาใช้ในชีวิต สิ่งที่เติมเต็มความสุขและความต้องการของเรา แล้วทำให้เราไม่จำเป็นที่จะต้องหาสิ่งใหม่เข้ามาอีกตลอดระยะเวลาที่มันยังสามารถทำงานรับใช้เราได้อยู่ เช่น หากเราใช้ดินสอกด หรือปากกาหมึกซึม ที่ดีทนทานในการเขียนสิ่งนี้อาจะอยู่กับเราไปได้ตลอดชีวิต และใช้เพียงหมึกหรือไส้เล็กน้อย แทนที่จะใช้ปากกาแบบใช้แล้วทิ้งทั้งด้ามและเสียง่าย เสื้อผ้าที่ทนทานแบบที่ไม่ล้าสมัย ก็จะใส่ไปได้นานหลายปี แก้วน้ำแสตนเลสสตีลที่ไม่แตก ก็จะอยู่กับเราไปได้นานๆ เป็นต้น
  3. Recycle เมื่อใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ยาวนานจนหมดอายุของมันแล้ว สิ่งที่ควรจะทำคือ มองเห็นสิ่งนี้เป็นวัสดุ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา และใช้ความคิดว่าจะทำอย่างไรจึงนำมันไปใช้ในประโยชน์อย่างอื่นอีกได้หรือไม่ในชีวิตเรา เช่นเมื่อเสื้อหมดอายุแล้ววัสดุผ้านั้น อาจจะกลายเป็นผ้าจับหูกระทะ ผ้าเช็ดพื้นได้อีก จนเมื่อวัสดุนั้นหมดอายุในการใช้งานทุกผลิตภัณฑ์ภายในชีวิตเราแล้ว สิ่งที่ควรจะมองก็คือมองว่าวัสดุเหล่านี้จะสามารถนำเข้าสู่กระบวนการในการกลับไปผลิตเป็นวัสดุใหม่เพื่อคืนชีวิตให้มันกลับมากลายเป็นผลิตภัณฑ์ อะไรได้อีกหรือไม่อย่างไร และเมื่อเทียบกับการนำวัสดุไปใช้ สิ่งใดทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน การหมุนเวียนใช้วัสดุที่มนุษย์เอามาจากธรรมชาติให้ได้วงจรที่ยาวนานที่สุด และลดมลพิษที่ปล่อยลงไปในสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุดย่อมเป็นการช่วยรักษาธรรมชาติ

ทั้งสามเรื่องเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นหูมานาน และก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยากในชีวิต เพียงเรามองว่าไม่มีอะไรเป็นขยะ มีแค่วัสดุที่อยู่ในธรรมชาติ กับที่สิ่งมนุษย์สร้างขึ้นที่มีผลกระทบในการปล่อยมลพิษเข้าไปในธรรมชาติ และควรที่จะ Reduce Reuse Recycle ให้ได้มากที่สุด ทีนี้หากมองในฐานะของผู้ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หลัก Reduce, Reuse, Recycle เป็นหลักที่นักออกแบบผลิตภัณฑ์จะต้องคิดทำทั้งกระบวนการของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบ ไปจนถึงสิ้นสุดการใช้งานของผลิตภัณฑ์ หลักสำคัญคือมองว่าหากไม่สร้างอะไรขึ้นมาก็จะไม่ต้องเอาทรัพยากรโลกขึ้นมาใช้ และไม่ปล่อยมลพิษออกไป ดังนั้นการสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาสักชิ้นจะต้องเกิดคุณค่าสูงสุดเพื่อการนำมาใช้ประโยชน์ โดยทุกขั้นตอนของผลิตภัณฑ์จะต้องใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด และสร้างมลพิษให้น้อยที่สุด

Reduce
  1. ลดวัสดุที่ใช้ให้ได้มากที่สุด พิจารณาตั้งแต่ขนาดของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในการใช้งาน โดยใช้ ขณะที่เล็กที่สุด ที่มีความเป็นไปได้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นยังสามารถตอบสนองต่อการใช้งาน มีขนาดที่บางที่สุดเท่าที่ยังใช้งานได้ ใช้ชิ้นส่วนที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อะไรที่ไม่มีความจำเป็น สามารถลดลงได้ และใช้ศิลปะในการออกแบบเพื่อคงความงดงามของตัวผลิตภัณฑ์หรือ ให้มีคุณค่าสูงอยู่
  2. ลดขั้นตอนและวิธีการผลิตให้น้อยที่สุด กระบวนการและขั้นตอนการผลิตของผลิตภัณฑ์นั้นมาจาก การกำหนด function การใช้งานและชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์จากนักออกแบบ ดังนั้นการกำหนด  function ของผลิตภัณฑ์ให้เพียงพอ ไม่มากเกินสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ มีชิ้นส่วนที่น้อยที่สุดและออกแบบการประกอบที่ง่าย แต่ยังคงเกิดประโยชน์ในการใช้งานที่เต็มที่และความสวยงามที่เหมาะสม
  3. ลดปริมาณการขนส่งผลิตภัณฑ์ โดยการออกแบบมิติสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดเหมาะสมกับการขนส่งโดยยานพาหนะต่างๆที่จะต้องขน ดังนั้นการขนส่งต่อเที่ยวจะสามารถขนผลิตภัณฑ์ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ มีน้ำหนักเบาทำให้การใช้น้ำมันในการขนส่งน้อย
Reuse
  1. ออกแบบให้ผลิตภัณฑ์สามารถใช้ซ้ำได้ หลีกเลี่ยงการออกแบบผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งอีกครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง นั่นคือ ผลิตภัณฑ์จะต้องสามารถบำรุงรักษาทำความสะอาดได้ง่ายและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ตลอดอายุการใช้งาน
  2. ออกแบบเพื่อที่จะทำให้ผู้ใช้ สามารถใช้สิ่งนั้นไปได้ยาวนานไม่เสียหายได้ง่าย ความทนทานของผลิตภัณฑ์ขึ้นอยู่กับการกำหนด spec ของวัสดุและวิธีการผลิตของชิ้นส่วนต่างๆ เลือกใช้วัสดุที่ทนทานต่อใช้งานเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะประสิทธิภาพรวมของผลิตภัณฑ์ขึ้นอยู่กับชิ้นส่วนที่เสียก่อน ดังนั้นแม้ว่าชิ้นส่วนนั้นจะเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ก็จะต้องให้ความสำคัญกับความทนทาน ซึ่งจะทำให้ระบบทั้งหมดสามารถใช้งานได้ยาวนาน
  3. สามารถซ่อมได้ง่ายโดยผู้ใช้เองก่อน การกำหนดการเข้าถึงชิ้นส่วนภายใน การถอดประกอบชิ้นส่วนได้โดยผู้ใช้เองเพื่อเปลี่ยนอะไหล่ซ่อมแซมได้ง่ายควรทำได้และมีอะไหล่ที่เปลี่ยนได้สำรองไว้ การออกแบบโดยใช้ชิ้นส่วนร่วมในผลิตภัณฑ์แต่ละรุ่นให้มากที่สุด ก็จะช่วยทำให้การบริหารอะไหล่ทำได้ง่ายขึ้น การออกแบบควรคงชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปในรุ่นใหม่ไว้ จะทำให้ผู้ใช้ที่ใช้รุ่นเดิมยังคงมีอะไหล่ที่ยังหาได้อยู่เพื่อซ่อมผลิตภัณฑ์ให้ยังคงใช้ได้
  4. มีรูปแบบความสวยงามและการใช้งานที่ไม่ล้าสมัย ไม่ตกยุคตกเทรน การออกแบบที่ดีจะต้องสวยงามอยู่ไปตลอด และใช้งานไปได้ตลอด (good design is last longer) นักออกแบบจะต้องมองความงามจากการใช้สอยของตัวผลิตภัณฑ์เอง โดยมองที่ความยั่งยืนของผู้ใช้เป็นหลัก ไม่ใช่อิงกับ fashion ที่เป็นกระแสชั่วคราวเป็นหลักผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้น งดงามตามที่มันเป็นอย่างตัวของมันเอง ความงามแบบนี้จะอยู่ยั่งยืน
Recycle
  1. เมื่อหมดอายุของผลิตภัณฑ์แล้ว จะต้องเอื้อให้ผู้ใช้สามารถที่จะถอดแยกวัสดุได้(ในกรณีที่ไม่มีชิ้นส่วนที่อันตราย) หรือส่งกลับมาที่ผู้ผลิตเพื่อที่จะนำมาสู่กระบวนการต้นทางเพื่อนำกลับไปเป็นวัสดุใหม่ เป็นความรับผิดชอบของนักออกแบบยุคใหม่ที่จะต้องมีต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ออกไปสู่ตลาด

สังคมในวันนี้และอนาคตคือการ ใช้ชีวิตไปสู่ เป้าหมายสำคัญนั้นคือการมีความสุขในการใช้ชีวิต และแน่นอน เป้าหมายแบบนี้จะต้องมีสภาวะแวดล้อมธรรมชาติที่สวยงามเป็นพื้นที่ที่จะใช้ชีวิต จะต้องมีเวลาในการ ใช้ชีวิต มีกิจกรรมในการใช้ชีวิตที่มีความสุขกับตัวเองและครอบครัว หากเรามุ่งเป้าหมายไปที่ความสุขในชีวิตจะมองเห็นได้ว่าการ live life balance ระหว่างการทำงานหาเงินกับการใช้ชีวิตให้มีความสุขนั้น จะทำได้ง่ายขึ้นด้วยการออกแบบชีวิตตามวิถีข้างต้นเพราะเมื่อเรา Reduce Reuse Recycle สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เราต้องการในชีวิตก็จะลดลงอย่างมากมายมหาศาล การอุปโภคและบริโภคก็จะลดลง แต่ในขณะเดียวกันความสุขของชีวิตกลับเพิ่มขึ้นก็เรามีเวลา ที่ไม่จำเป็นที่จะต้องทุ่มเทไปกับการทำงานเพื่อหาเงิน มาซื้อสินค้าและบริการต่างๆที่เกินความจำเป็น โดยไม่ได้สร้างความสุขให้เราเพิ่มเติมมากมายเท่าไรนัก และเมื่อการลด ใช้ใหม่ใช้ซ้ำ กับสามความสุขของเราให้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างนักออกแบบผู้ผลิตและผู้บริโภค ความจำเป็นในการที่จะต้องทุ่มเท เวลาในการหารายได้ที่มากมายเพื่อแสวงหาผลิตภัณฑ์ ที่ออกมาอยู่เรื่อยๆ โดยไม่มีวันจบสิ้นนั้นก็จะไม่อยู่ในแนวทางวิถีชีวิตของคนในอนาคต 

การออกแบบวิถีชีวิตที่มีมลพิษต่ำ (low pollution lifestyle) ต้องอาศัยการ “สร้าง ใช้ เกิดใหม่” สร้างคือ สร้างแบบแผน หมายให้กับชีวิตที่มีความสมดุล ในการใช้ร่างกายในกระบวนการของชีวิต เช่นใช้เครื่องมือที่ต้องออกแรงแทนที่จะใช้ไฟฟ้า หรือเดินแทนที่จะขับรถ ฯลฯ สร้างรูปแบบของชีวิตที่บริโภคต่ำ มีความสุขกับสิ่งที่เลือกมาแล้วเป็นอย่างดี ที่จะอยู่กับเราไปได้นานๆ ใช่สิ่งต่างๆคุ้มค่าให้ได้ยาวนานที่สุดแหละ ใช้จนคิดไม่ออกว่าจะใช้มันในรูปแบบใดบ้าง และสุดท้ายก็คือ สองสิ่งนั้นที่เป็นวัสดุกลับไปใช้ใหม่เพื่อลดมลพิษ เป็นขบวนการผลิตให้น้อยลง การออกแบบวิถีชีวิตแบบนี้ทุกคนทำได้อย่างแน่นอน และความร่วมมือระหว่างนักออกแบบผู้ผลิตและผู้บริโภค ในมุมมองที่ตรงกันจะช่วยลดปัญหาของมลพิษที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต สำหรับมรดกที่เราควรจะทิ้งไว้ให้กับลูกหลาน โลกที่สวยงามไม่ใช่

เราเปลี่ยนสิ่งที่เราทำมาแล้วในชีวิตเราเองได้แน่นอน และเมื่อทุกคนทำพร้อมกัน เราก็จะเปลี่ยนโลกในอนาคตได้แน่นอน

Scroll to Top