กิจกรรม SI ดีพร้อม

กิจกรรม SI ดีพร้อม ภายใต้โครงการ 13.1-1 การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและดิจิทัล ปีงบประมาณ 2566

กิจกรรม SI ดีพร้อม ภายใต้โครงการ 13.1-1 การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและดิจิทัลปีงบประมาณ 2566 จัดขึ้นเพื่อตอบสนอง แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการไม่ว่าจะเป็น ทางด้านอุปกรณ์การแพทย์ การขนส่งระบบราง อาหาร บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มนำหุ่นยนต์มาใช้แทนที่มนุษย์มากขึ้น เนื่องจากหุ่นยนต์มีข้อจำกัดในการทำงานน้อยกว่า มีความเร็ว ความแม่นยำ และความละเอียดสูง ทำให้ผลผลิตที่ได้มีมาตรฐานที่คงที่ รวดเร็ว และเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ในการขับเคลื่อนยกระดับเศรษฐกิจและสังคม

กิจกรรมดังกล่าว ได้ตอบโจทย์ในเรื่องการเรียนรู้ฝึกอบรม และการประเมินสมรรถนะ เพื่อนำไปสู่ทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ แรงงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้มีทักษะความรู้ความสามารถเท่าทันความก้าวหน้าในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและดิจิทัล เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการผลิตของผู้ประกอบการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และสามารถเชื่อมโยงการทำงานของกลไกเฉพาะต่าง ๆ ที่มีอยู่จำนวนมากให้สามารถขับเคลื่อนพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กิจกรรม SI ดีพร้อม จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เข้าฝึกอบรมสามารถนำทักษะความรู้ความสามารถเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้งานและสามารถต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้เป็นอย่างดี

การบูรณาการหลักสูตรต่าง ๆ ได้มีการร่วมประชุมของคณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญ และวิทยากรที่เกี่ยวข้องในการวางแผนจัดเตรียมหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากรหรือผู้ประกอบการ ในการพัฒนาและยกระดับบุคลากรด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและดิจิทัล ดังนั้นจึงได้รวบรวมหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 9 หลักสูตร โดยมีระยะเวลาในการฝึกอบรมในแต่ละหลักสูตรไม่น้อยกว่า 15 วัน หรือ 90 ชั่วโมง

หลักสูตรด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและดิจิทัล

  • หลักสูตร (ROS) Robot Operating Systems
  • หลักสูตร Automation Production Line Design
  • หลักสูตร Stationary Robot Design
  • หลักสูตร Vision and Motion for Inspection
  • หลักสูตร Automation Machinery and Mechanical Design (TRIZ)
  • หลักสูตร Manufacturing Data and Process Management for Smart Factory
  • หลักสูตร Automation System Analysis
  • หลักสูตร Automation Simplification

การประเมินสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มาตรฐานอาชีพอุตสาหกรรม

  • อาชีพช่างแมคคาทรอนิกส์ ระดับ 3
  • อาชีพช่างแมคคาทรอนิกส์ ระดับ 4
  • อาชีพช่างควบคุมหุ่นยนต์ ระดับ 2
  • อาชีพช่างควบคุมหุ่นยนต์ ระดับ 3
  • อาชีพนักบูรณาการระบบการผลิต (การเขียนโปรแกรม PLC เพื่อควบคุมกระบวนการผลิต ระดับ 4)           

ในกิจกรรมมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวน 224 คน โดยเป็นบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษาที่สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในหน้างานของตนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจต่อภาพรวมโครงการถึงร้อยละ 88.60 และมีการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ถึงร้อยละ 81.85 สำหรับการประเมินสมรรถนะ มีผู้ผ่านการประเมินจำนวน 120 คน จาก 128 คนคิดเป็นร้อยละ 93.75 อีกทั้งยังมีการทำ Project Proposals จำนวน 90 Projects และมีการนำไปต่อยอดในสถานประกอบการอีก 9 Projects

Scroll to Top